Stock to Flow Ratio คืออะไร?

stock-to-flow

Stock to Flow ratio คืออะไร?

Stock คือ ปริมาณสินค้าที่มีอยู่ในระบบ
Flow คือ ปริมาณสินค้าที่ถูกผลิตออกมาใหม่ในระบบ

Stock to Flow ratio (SF) คือ การนำ 2 ค่านี้มาเทียบกันเพื่อแสดงถึงความหายาก (scarcity) ของสินค้านั้นๆ โดยส่วนใหญ่แล้วคนมักจะนำค่านี้ไปวัดกับสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) อย่างเช่น โลหะมีค่า เพราะเป็นสินค้าที่ผลิตได้ยาก

เช่น สมมติว่าปริมาณทองคำบนโลกในปัจจุบันนี้มี 100,000 ตัน และกำลังผลิตต่อปีอยู่ที่ 2,000 ตัน เมื่อนำ Stock หารด้วย Flow จะได้ค่า SF อยู่ที่ 100,000/2,000 = 50

ซึ่งหมายความว่าเราจะต้องใช้เวลาผลิตทองคำประมาณ 50 ปี เพื่อให้ได้เทียบเท่ากับปริมาณปัจจุบันหรือในอีกแง่หนึ่งคือ ทองคำมีอัตราการผลิตเพิ่มใหม่ อยู่ที่ 2,000/100,000 = 2% ต่อปี ถือได้ว่าเป็นสินค้าที่ผลิตได้ยาก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งให้คนมักใช้มันเป็นที่เก็บมูลค่าในระยะยาว

สินค้าใดก็ตามที่มีกำลังการผลิตสูงเมื่อเทียบกับปริมาณที่มีอยู่ทั้งหมด จะมีค่า SF ต่ำ เช่น แร่เงิน(Silver) ที่มีปริมาณทั้งหมดประมาณ 550,000 ตัน แต่กำลังการผลิตต่อปีอยู่ที่ 25,000 ตัน คิดเป็นค่า SF = 22 หรือ อัตราการผลิตอยู่ที่ 4.5% ต่อปี

ลองจินตนาการว่ามีเศรษฐีที่คิดว่าแร่เงินสามารถเป็นแหล่งเก็บมูลค่าได้ เขาทำการโยกย้านเงิน 1 แสนล้านบาทมาเพื่อกว้านซื้อในตลาดแร่เงิน ซึ่งสมมติว่ามีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 1ล้านล้านบาท แปลว่าเขาจะต้องซื้อแร่เงินคิดเป็น 10% ของปริมาณทั้งหมดในตลาด ทำให้ราคาแร่เงินพุ่งสูงขึ้นอย่างกระทันหัน ส่งผลให้นักลงทุนคนอื่นๆในตลาดต่างหันมาซื้อตาม และยิ่งดันราคาขึ้นไปอีก เมื่อมีราคาเป็นแรงจูงใจ ผู้ผลิตแร่เงินก็จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและทำกำไรได้มากขึ้น ถึงจุดหนึ่งตลาดจะเริ่มอิ่มตัว

ตามหลัก Supply-Demand แล้ว ราคาสินค้าจะปรับตัวลงเมื่อมีความต้องการในการขายมากกว่าความต้องการในการซื้อ

คนที่เก็บแร่เงินไว้จะเริ่มเทขายออกมาเพื่อทำกำไร เพราะพวกเขามองว่าปริมาณแร่เงินที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่นั้นมีมากขึ้น ทำให้สัดส่วนแร่เงินที่เขาถืออยู่ลดลง และทำให้นักลงทุนรายอื่นต่างพากันขายเช่นกัน ส่งผลให้ราคาปรับตัวลงกลับสู่จุดสมดุล สุดท้ายแล้ว เศรษฐีผู้นั้นที่พยายามใช้แร่เงินเป็นแหล่งเก็บมูลค่าก็จะต้องพบกับความผิดหวัง เพราะ มูลค่าที่เขาพยายามเก็บออมในแร่เงินกลับถูกโยกย้ายไปสู่ผู้ผลิตแร่เงินนั่นเอง

ทั้งหมดนี้ เป็นเพราะความยากในการผลิตแร่เงินนั้น ยังไม่สูงพอ

จากประวัติศาสตร์ มนุษย์ทดลองหาแหล่งเก็บมูลค่ามานับพันปีจนมาจบที่ ทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีค่า SF สูงที่สุด

แต่ สถานะนี้กำลังจะเปลี่ยนไป จากการค้นพบ บิตคอยน์

 

หลายคนมักเปรียบเทียบบิตคอยน์กับทองคำ ในแง่ที่ทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่ผลิตได้ยาก สำหรับทองคำนั้นเรารู้กันดีว่าจะต้องใช้เทคโนโลยีในการขุดเหมืองเพื่อสกัดทองคำออกมาจากพื้นผิวโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องลงทุนลงแรงพอสมควร จึงเรียกได้ว่าเป็นสินค้าที่ผลิตได้ยาก

 

ความยากในการผลิตอยู่ที่อะไร?

กลไกหนึ่งที่ถูกระบุไว้ในโค้ดบิตคอยน์ คือ Halving
กล่าวคือ นับตั้งแต่วันแรกที่ระบบนี้เริ่มทำงาน ในทุกๆบล็อกจะมีบิตคอยน์ที่ถูกผลิตใหม่ 50 btc เป็นรางวัลให้แก่นักขุดในการปิดบล็อก โดยเมื่อผ่านไป 210,000 บล็อก(หรือประมาณ 4 ปี) รางวัลนี้จะถูกหารครึ่ง เหลือ 25 btc และ หารครึ่งแบบนี้ไปเรื่อยๆในทุกครั้งที่ผ่านไป 210,000 บล็อก

ซึ่งปัจจุบันปี 2023 รางวัลการปิดบล็อกอยู่ที่ 6.25 btc หรือผ่านการ halving มาแล้ว 3 ครั้ง (50>25>12.5>6.25) โดยเมื่อลองคำนวณดูแล้วรางวัลนี้จะถูกขุดจนหมดในราวๆปี 2140 หรือผ่านการ halving ไปทั้งหมด 33 ครั้ง ซึ่งหลังจากนั้น นักขุดก็จะเหลือแค่ค่าธรรมเนียมธุรกรรมในการโอนบิตคอยน์เป็นรางวัลเท่านั้น และปริมาณบิตคอยน์ทั้งหมดที่จะมีได้ในระบบคือ 21 ล้านบิตคอยน์

ทำไมต้องมีจำนวนจำกัด และ ทำไมถึงมีมากกว่านี้ไม่ได้?

การที่บิตคอยน์มีจำนวนจำกัดนั้นถือเป็นคุญสมบัติที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่ทำให้มันอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าทองคำในแง่ของ Stock to flow เพราะ เมื่อสินค้ามีปริมาณ(Stock) จำกัด ไม่สามารถผลิตเพิ่มได้ตามที่ระบุอยู่ในโค้ด และ กำลังการผลิต(Flow) ก็ถูกกำหนดให้ลดลงเรื่อยๆ ทำให้ค่า SF ของบิตคอยน์จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปัจจุบันปี 2023 มีจำนวนบิตคอยน์อยู่ที่ประมาณ 19.55 ล้าน btc และมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 6.25 btc ต่อบล็อกหรือประมาณ 328,500 btc ต่อปี ทำให้ได้ค่า SF ที่ประมาณ 59 ซึ่งใกล้เคียงกับทองคำที่ประมาณ 62 มากๆ

และเมื่อผ่าน halving ครั้งถัดไปที่จะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2024 ค่า SF ของบิตคอยน์จะอยู่ที่ประมาณ 120

แซงหน้าทองคำไปอีกเท่าตัวเลย

การที่สินค้ามีความหายากสูงขึ้น ย่อมสะท้อนออกมาให้เห็นได้ด้วยการเพิ่มขึ้นของราคา

เมื่อลองดูราคาย้อนหลังของบิตคอยน์ซึ่งผ่านการ halving มาแล้ว 3 ครั้ง เราจะเห็นว่า ราคาปรับตัวขึ้นตลอดหลังจากที่มีการ halving นั่นจึงเป็นเหตุผลให้หลายคนนำค่า SF มาทำเป็นโมเดลเพื่อคาดการณ์ราคาในอนาคตของบิตคอยน์

แต่ไม่ว่าแต่ละโมเดลจะมีการคำนวณที่แม่นยำแค่ไหน มันก็เป็นเพียงการคาดการณ์จากฝั่ง Supply เพียงด้านเดียว โดยเราต้องคำนึงถึงอีกตัวแปรที่สำคัญในสมการด้วย นั่นคือ Demand หรือ ความต้องการในการซื้อของผู้คนในตลาด ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างแม่นยำ สุดท้ายแล้ว ทุกโมเดลจะมีวันที่มันผิด เราไม่ควรยึดถือมันเป็นส่วนสำคัญในเส้นทางการออมหรือการลงทุน

สิ่งสำคัญที่เราควรคำนึงถึง คือ ความยากในการผลิตของบิตคอยน์ จะเพิ่มขึ้นทุกๆประมาณ 4 ปี สิ่งนี้ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ตราบใดที่บิตคอยน์ยังไม่ตาย สิ่งที่หายากขึ้นตลอดเวลา ย่อมมีค่ามากขึ้นตามมาด้วย

เมื่อเราตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้แล้ว การแบ่งเงินออมมาสะสมบิตคอยน์จึงเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลครับ